Rasputin, Gregory Efimovich (1869-1916)

เกรกอรี เอฟีโมวิช รัสปูตีน (พ.ศ. ๒๔๑๖-๒๔๕๙)

เกรกอรี เอฟีโมวิช รัสปูตินเป็นนักบวชชาวรัสเซียที่มีอิทธิพลมากระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๔-๑๙๑๕ ในราชสำนักของซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* แห่งราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* และซารีนาอะเล็กซานดรา เฟโอโดรอฟนา (Alexandra Feodorovna)* รัสปูตินมีพลังจิตแข็งกล้าและสามารถรักษาอาการประชวรของซาเรวิซอะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิช (Alexei Nikolayevich)* ที่ทรงประชวรด้วยโรคฮีโมฟิเลีย (hemophilia) หรือพระโลหิตไม่แข็งตัวทั้งซาร์และซารีนาทรงเชื่อว่ารัสปูตินเป็น “คนของพระเป็นเจ้า” (Man of God) ที่สามารถสร้างสิ่งปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นโดยเฉพาะมีอำนาจพิเศษในการรักษาโรคร้ายของพระราชโอรส ทั้ง ๒ พระองค์จึงทรงปฏิเสธที่จะรับฟังการตักเตือนเรื่องบทบาทและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของรัสปูติน


ในราชสำนัก เมื่อซาร์นิโคลัสที่ ๒ เสด็จไปบัญชาการรบในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ซารีนาอะเล็กซานดราซึ่งทรงบริหารราชการแผ่นดินแทนทรงเชื่อฟังคำกราบทูลของรัสปูตินในการแต่งตั้งบุคคลที่ใกล้ชิดเขาซึ่งไร้ความสามารถให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ จนงานราชการแผ่นดินเสียหายสมาชิกสภาดูมา (Duma)* จึงเคลื่อนไหวต่อต้านราชวงศ์อย่างเปิดเผยและโจมตีซารีนาและรัสปูตินอย่างรุนแรง ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๖ เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูปอฟ (Felix Yusupov)* พระญาติซึ่งหวังดีต่อราชวงศ์จึงคบคิดกับสมาชิกสภาดูมากลุ่มหนึ่งร่วมกันสังหารรัสปูติน

 รัสปูตินซึ่งมีชื่อจริงว่านอฟอีฮ์ (Novykh) เกิดในครอบครัวชาวนาที่มีฐานะเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๘๖๙ ณ หมู่บ้านโปครอฟสโกเย (Pokrovskoye) ที่ตั้งริมฝั่งแม่นํ้าตูลา (Tula) ในจังหวัดโตบอลสค์ (Tobolsk) ไซบีเรียตะวันออก บิดาเคยทำงานเป็นพนักงานขับรถไปรษณีย์แต่ลาออกมาทำเกษตรกรรมและเลี้ยงม้าจนมีฐานะมั่งคั่งทั้งมีบ้านหลังใหญ่ที่สุดในหมู่บ้านเพราะมีห้องถึง ๘ ห้องรัสปูตินมีพี่น้อง ๒ คน พี่ชายเสียชีวิตในวัยเยาว์ด้วยโรคปอดบวม ส่วนน้องสาวซึ่งเป็นโรคลมบ้าหมูก็จมนํ้าตาย รัสปูตินซึ่งรักพี่น้องมากจึงตั้งชื่อบุตรชายและบุตรสาวของเขาในเวลาต่อมาว่าดิมีตรี (Dmitri) และมาเรีย (Maria) ตามชื่อพี่ชายและน้องสาวในวัยเยาว์เขาเป็นเด็กเกเร เกียจคร้านชอบทะเลาะวิวาทและมักสร้างปัญหาให้กับครอบครัว แม้เขาจะมีโอกาสเข้าโรงเรียนเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ แต่ก็ไม่สามารถอ่านเขียนได้ เขามีความสามารถในการทำนายเพราะขณะนอนซมด้วยพิษไข้ก็สามารถบอกพวกชาวบ้านที่มาขอคำปรึกษาจากบิดาซึ่งนั่งเฝ้าดูแลเขาได้ว่า คนขโมยม้าที่ทุกคนเข้าใจว่ามาจากถิ่นอื่นแท้ที่จริงคือชาวนาคนหนึ่งในกลุ่มชาวบ้านที่มาหารือ การทำนายที่ถูกต้องดังกล่าวครั้งนี้และในเวลาต่อมาเกี่ยวกับเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นปัญหาของชาวบ้านทั่วไปทำให้เขาเป็นที่นับถือในหมู่บ้านจนเล่าสู่กันต่อ ๆ ไปว่าเขามีพลังวิเศษ นอกจากนี้ รัสปูตินยังได้ชื่อว่าสามารถลื่อสารกับสัตว์ได้เพราะสามารถสั่งให้สุนัข ม้า หรือไก่ทำตามคำสั่งได้ ทั้งทำให้สุนัขที่ดุร้ายหรือม้าที่พยศสงบลง เขาจึงได้สมญาจากชาวบ้านว่านักกล่อมสัตว์ (animal calmer) เมื่อโตเป็นหนุ่ม รัสปูตินทำงานเป็นคนขับรถม้าส่งของจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังหมู่บ้านหนึ่งทั่วจังหวัดโตบอลสค์ เขาใช้ชีวิตอย่างเสเพล เป็นหนุ่มห้าวที่เจ้าชู้ซึ่งสาว ๆ หลงเสน่ห์ เขามักมากเรื่องเพศ ขี้ขโมย และเมาหยำเป ทั้งมีเรื่องราวกับตำรวจเสมอ ๆ จนได้ชื่อว่ารัสปูตินหมายถึงคนเสเพล

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๗ รัสปูตินในวัย ๑๘ ปี ถูกจับด้วยข้อหาขโมยทรัพย์สินของเพื่อนบ้านและถูกส่งไปกักบริเวณที่วัดเวียร์โฮดูเรีย (Verkhoturye) เพื่อให้สำนึกผิดและกลับตัวกลับใจ ในช่วงที่พักอยู่ที่วัดเป็นเวลากว่า ๓ เดือน เขามีโอกาสรู้จักพวกนอกรีตนิกายคิลิซี (Khylysy) และนิกายคอปสตี (Skopsty) ซึ่งพักอาศัยที่วัดเวียร์โฮตูเรีย พวกนิกายคิลิซีเชื่อว่าการหลุดพันและการเข้าสู่อาณาจักรของพระเป็นเจ้าคือการต้องทำบาปและมีการสารภาพบาปเพื่อให้ได้รับการอภัยโทษ การเฆี่ยนตีหรือความรุนแรงในกามารมณ์เป็นรูปแบบหนึ่งของการเคารพบูชา หลังพิธีกรรมทางศาสนาผู้เข้าร่วมพิธีจึงมักมีเพศสัมพันธ์หมู่ระหว่างกันส่วนพวกนิกายคอปสตีเชื่อว่าบาปสามารถชะล้างได้ด้วยบาป การจะเข้าถึงพระเป็นเจ้าได้คือการทำบาป เมื่อทำบาปแล้วและสารภาพรวมทั้งสวดมนต์ภาวนาก็จะได้รับการอภัยโทษ รัสปูตินซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคนที่บาปหนักที่สุดคนหนึ่งจึงดื่มดํ่ากับแนวความคิดของพวกนอกรีตทั้ง ๒ นิกาย เขานำแนวความคิดดังกล่าวมาประยุกต์เป็นความเชื่อทางศาสนาของตนเองและมีความเชื่อในเรื่องเทววิทยาที่ผิดศีลธรรม เมื่อเขากลับมายังหมู่บ้านรัสปูตินเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งบุคลิกภาพและความประพฤติเขาชอบพูดปริศนาธรรมที่ยากแก่ความเข้าใจของชาวบ้านและกล้าแสดงออกถึงความสามารถพิเศษในการใช้พลังจิตรักษาคนเจ็บป่วย รวมทั้งการทำบาปและไถ่บาปร่วมกันทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการมีเพศสัมพันธ์ กิจกรรมทางศาสนาดังกล่าวทำให้มีผู้ไปเข้าร่วมและเคารพยกย่องเขามากขึ้น

 ใน ค.ศ. ๑๘๘๙ รัสปูตินในวัย ๒๐ ปีแต่งงานกับปรัสโกเวีย ฟีโอโดรอฟนา ดูโบรวีนา (Praskovia Fyodorovna Dubrovina) สาวชาวนาวัย ๒๓ ปีที่รักและศรัทธาเขา ทั้งคู่มีบุตรด้วยกันรวม ๔ คน เป็นชาย ๒ คนและหญิง ๒ คนบุตรชายคนโตเสียชีวิตในวัยเยาว์และดิมีตรีบุตรอีกคนหนึ่งมีร่างกายไม่สมประกอบ ส่วนมาเรียและวาร์วารา (Varvara) บุตรสาว ๒ คนเติบโตตามปรกติและในเวลาต่อมามาเรียตามบิดาไปอยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กช่วงเวลาระยะหนึ่งแม้จะแต่งงานแล้วแต่รัสปูตินก็ยังคงมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงคนอื่น ๆ ไม่เลือกหน้า ปรัสโกเวียไม่ได้หึงหวงเพราะเห็นว่าสามีมีส่วนช่วยผู้หญิงเหล่านั้นให้พันบาปและเขาก็มีพลังทางเพศเพียงพอที่จะให้ความสุขอย่างเหลือล้นแก่ผู้หญิง ทุกคน อย่างไรก็ตาม ข่าวและกิจกรรมทางศาสนาที่อื้อฉาวทำให้องค์การศาสนจักรมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการศาสนา ไต่สวนรัสปูตินและตัดสินว่าเขาสร้างความเสื่อมเสียให้แก่ ศาสนจักรและมีความผิดทั้งให้ส่งผลการสอบสวนให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่บ้านเมืองพิจารณาโทษ ในช่วงที่ทางการกำลังดำเนินการที่จะตัดสินโทษรัสปูตินอยู่นั้น เขามีโอกาสพบกับมาคารี (Makary) ฤษีที่พักอาศัยใกล้หมู่บ้าน มาคารีมีชื่อเสียงในฐานะผู้วิเศษและเป็นผู้ชี้นำให้รัสปูตินศึกษาพระคัมภีร์สวดมนต์ ทำสมาธิและฟิกจิตเพื่อเข้าถึงสัจธรรม เขาเห็นว่ารัสปูตินมีพรพิเศษในตัว รัสปูตินปฏิบัติตามคำชี้แนะและวันหนึ่งก็เห็นภาพพระแม่มารีในชุดขาวที่งดงามปรากฏบนท้องฟ้า ฤษีมาคารีจึงแนะนำให้เขาเดินทางจาริกแสวงบุญไปวิหารแห่งอาฟอน (Afon) ซึ่งประดิษฐานรูปเคารพศักดิ์สิทธิ์ของพระแม่มารีและตั้งอยู่บนภูเขาเอโทส (Athos) ในกรีซ ใน ค.ศ. ๑๘๙๑ รัสปูตินก็เริ่มต้นชีวิตผู้จาริกแสวงบุญด้วยการเดินเท้าไปกรีซ

 รัสปูตินใช้ชีวิตผู้แสวงบุญกว่า ๑๐ ปี เขาเดินทางไปกรีซและนครเยรูซาเล็ม เมื่อกลับถึงรัสเซียก็จาริกแสวงบุญไปทั่วไซบีเรียและขณะเดียวกันก็ยังคงฝักใฝ่ในโลกีย์ทั้งแสดงออกถึงความต้องการทางเพศอย่างเปิดเผย เมื่อพบผู้หญิงที่ถูกใจจะขอร่วมรักด้วย ซึ่งก็ประสบความสำเร็จทุกครั้งเพราะทุกคนตกอยู่ใต้อำนาจของดวงตาที่คมกริบของเขา รัสปูตินได้สร้างชื่อเสียงด้วยการพยากรณ์ที่แม่นยำและการใช้พลังจิตรักษาโรคภัยไข้เจ็บของชาวนาจนได้ชื่อว่าเป็นผู้วิเศษที่ผู้คนต่างเรียกหา เขามีรูปร่างสูงปานกลาง แขนยาวและไหล่กว้าง จมูกใหญ่ ริมฝีปากเรียวบาง มีนัยน์ตาสีเทาฟ้าที่ดูคมและดุดันทั้งไว้ผมยาวปรกใบหน้ารูปไข่ คนที่พบเห็นรัสปูตินจะรู้สึกถึงอำนาจบางอย่างในตัวเขา ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ รัสปูตินเดินทางกลับหมู่บ้านเกิดแต่พักอาศัยได้ไม่นานก็ต้องเดินทางออกจากหมู่บ้านอีกครั้งหนึ่งเพราะความผิดในอดีตทำให้เขาถูกเนรเทศ บ้างว่าเขาถูกชาวบ้านขับไล่เพราะไม่พอใจในพฤติกรรมทางเพศที่นับวันมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ ขณะที่อยู่ที่เมืองคาซาน (Kazan) รัสปูตินได้สร้างความประทับใจอย่างมากแก่นักบวชท้องถิ่นหลายรูป เขาจึงได้รับการรับรองและแนะนำให้เดินทางไปกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเพื่อคารวะและพบปะผู้นำทางศาสนา ใน ค.ศ. ๑๙๐๓ รัสปูตินได้พบกับบิชอปเซียร์กีอุส (Sergius) ผู้อำนวยการสถาบันเทววิทยาแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg Theological Seminary) และพระผู้นำระดับสูงหลายรูป เกียร์โมเกน (Germogen) บิชอปแห่งซาราตอฟ (Saratov) ที่ชื่นชมเขาเป็นคนชักนำเขาเข้าสู่สังคมเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและทำให้เขาเป็นที่รู้จักในหมู่ขุนนางและสตรีสูงศักดิ์ในฐานะนักบวชที่มีอำนาจลี้ลับในการรักษาและสามารถทำนายเรื่องต่าง ๆ ได้แม่นยำ รัสปูตินพำนักอยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเกือบ ๕ เดือนก่อนเดินทางกลับไปไซบีเรียเขากลับมากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้งใน ค.ศ. ๑๙๐๕ และพำนักอยู่อย่างถาวร

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ ซารีนาอะเล็กซานดราซึ่งทรงกังวลพระทัยมาเป็นเวลานานเกี่ยวกับปัญหาการไม่มีรัชทายาทได้ประสูติพระราชโอรส แต่หลังจากมีพระประสูติกาลได้ ๖ สัปดาห์ ซาเรวิชอะเล็กเซย์ นีโคลาเยวิชมีพระอาการโลหิตจากพระนาภีไหลไม่หยุดเป็นระยะ ๆ รวมเวลา ๓ วัน ๓ คืน จึงเป็นปรกติ ในเวลาอันสั้นทั้งซาร์นิโคลัสที่ ๒ และซารีนาก็ทรงทราบว่าพระราชโอรสเป็นโรคฮีโมฟิเลีย โรคดังกล่าวเป็นพันธุกรรมที่ถ่ายทอดมาจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย (Victoria)* แห่งอังกฤษซึ่งเป็นสมเด็จพระอัยยิกาของซารีนาอะเล็กซานดรา ทั้งซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระมเหสีทรงปิดข่าวเรื่องโรคร้ายของพระราชโอรสเป็นความลับ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องโชคร้ายในพระราชวงศ์ที่บุคคลภายนอกไม่ควรได้รับรู้ทั้งยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าหากสาธารณชนได้ทราบจะส่งผลอย่างไรบ้าง และอาจนำไปสู่ปัญหาร้ายแรงทางการเมืองได้จึงมีเพียงพระราชวงศ์และผู้ใกล้ชิดจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่รู้ความลับนี้โรคร้ายที่เกิดขึ้นกับพระราชโอรสทำให้ซารีนาทรง ตัดขาดจากสังคมและใช้เวลาส่วนใหญ่สวดมนต์อ้อนวอนพระเป็นเจ้าและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตลอดจนทรงบำเพ็ญพระราชกศลเพื่อขอให้พระราชโอรสหายประชวร โรคร้ายของซาเรวิชอะเล็กเซย์ทำให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระมเหสีทรงใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น และทั้ง ๒ พระองค์ก็แทบจะตัดขาดกับแวดวงสังคมชั้นสูงของกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ทั้งปรากฏพระองค์ในที่สาธารณะน้อยลง จนเกิดข่าวลือร้ายต่าง ๆ ที่ทำให้ราชวงศ์มัวหมองและซารีนาทรงตกเป็นเป้าของการโจมตีให้ร้ายด้วย

 ซาร์นิโคลัสที่ ๒ และซารีนาอะเล็กซานดราทรงพบรัสปูตินครั้งแรกในกลางเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๕ ทั้ง ๒ พระองค์ประทับใจบุคลิกภาพความเป็นนักบวชชาวนาและความเคร่งครัดของเขามากเพราะรัสปูตินมักกล่าวอ้างถ้อยคำที่เกี่ยวกับพระเป็นเจ้าและหลักศาสนาที่น่าเชื่อถือหลังจากนั้นไม่นานนัก ซาร์นิโคลัสที่ ๒ โปรดให้รัสปูตินทำหน้าที่ดูแลตะเกียงไฟที่จุดบูชารูปเคารพทางศาสนาในพระราชวัง เขาปฏิบัติหน้าที่อย่างดีและสวดมนต์ภาวนาให้พระราชวงศ์ตลอดเวลา ในช่วงเวลาเดียวกัน รัสปูตินได้รู้จักกับอันนา วีรูโบวา (Anna Vyrubova) นางสนองพระโอษฐ์คนสนิทของซารีนา อันนาปรึกษารัสปูตินเกี่ยวกับคนรักที่เป็นนายทหารเรือซึ่งเธอจะแต่งงานด้วย แต่รัสปูตินทำนายว่าหากเธอแต่งงาน ชีวิตสมรสจะไร้ความสุข อันนาไม่ยอมเชื่อฟังคำเตือนและไม่กี่เดือนหลังแต่งงาน ชีวิตคู่ของเธอก็พังพินาศและหย่าร้างกันในที่สุด เธอจึงมีศรัทธาเชื่อมั่นในรัสปูตินและเข้าใจกันว่ามีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเขาด้วย อันนามักกราบทูลเรื่องราวของรัสปูตินให้ซารีนาทรงทราบเสมอและในเวลาต่อมาเธอทำหน้าที่เป็นคนกลางติดต่อระหว่างราชสำนักกับรัสปูตินทั้งเป็นผู้เตรียมการนัดการเข้าเฝ้าซารีนาให้กับรัสปูตินด้วย นอกจากนี้ แกรนด์ดัชเชสมิลิตซา (Grand Duchess Militza) เจ้าหญิงแห่งมอนเตเนกริน (Montenegrin) นางสนองพระโอษฐ์คนสนิทอีกคนหนึ่งของซารีนาซึ่งชื่นชมรัสปูตินก็กราบทูลซารีนาเกี่ยวกับอำนาจวิเศษที่ลึกลับของรัสปูติน อย่างไรก็ตาม แกรนด์ดัชเชสมิลิตซา ในเวลาต่อมากลับเป็นปฏิปักษ์ต่อรัสปูติน เพราะไม่อาจทนความมักมากในกามรสของรัสปูตินได้ ในระยะแรก ๆ แม้ซารีนาจะไม่สนพระทัยเรื่องรัสปูตินมากนัก แต่พระองค์ก็ไม่รังเกียจเขาเพราะทรงเห็นว่าเขาเป็นนักบวชที่พระเป็นเจ้าทรงส่งมาเพื่อรับภาวนาของพระนางเกี่ยวกับโรคร้ายของพระราชโอรส ต่อมา เมื่อได้พบกับรัสปูตินบ่อยขึ้นและรัสปูตินได้แสดงความสามารถในการทำให้พระโลหิตหยุดไหลและรักษาอาการเจ็บปวดของพระราชโอรสจนเป็นปรกติได้หลายครั้ง ซารีนาจึงเชื่อมั่นว่ารัสปูตินเป็นตัวแทนของพระเป็นเจ้าและจะนำพระเป็นเจ้ามาเชื่อมโยงกับพระนางเพื่อรับฟังคำสวดอ้อนวอนภาวนาของพระนาง

 ในระยะแรกที่เข้ามาในราชสำนัก รัสปูตินระมัดระวังตัวในการคบหาสมาคมกับพวกขุนนางและสตรีสูงศักดิ์แห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและแสดงตนเป็นนักบวชที่สำรวมทั้งไม่เรียกร้องและต้องการสิ่งใดมากนัก แต่ในเวลาอันสั้นสิ่งล่อใจและความเย้ายวนต่าง ๆ ของเมืองหลวงไม่ว่าจะเป็นไวน์และแชมเปญรสเลิศ สตรีที่พราวเสน่ห์และงดงามเงินตราและอำนาจ และอื่น ๆ ก็มีมากเกินกว่าที่รัสปูตินจะต่อต้านได้ เมื่ออยู่นอกราชสำนักเขามักไปกินดื่มตามภัตตาคาร หรือโรงระบำท้องถิ่น และไปสถานเริงรมย์ต่าง ๆ ทั่วกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เขาดื่มหนักจนกลายเป็นนักบวชขี้เมาที่ชอบอาละวาดแสดงอำนาจและคุยโวเกี่ยวกับความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับราชสำนัก ทั้งหมกมุ่นกับตัณหาราคะตำรวจลับมีบันทึกรายงานประจำวันว่าบ้านพักของรัสปูตินมีผู้คนเข้าออกอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายและมีเหล่าสตรีชั้นสูงไป ๆ มา ๆ เพื่อเข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนาอย่างกระหายทั้งมีการดื่มกินกันอย่างสนุกสนาน ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ พฤติกรรมของรัสปูตินกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ซุบซิบกันทั่วไปในสังคม และข่าวลือว่ารัสปูตินกับซารีนาอะเล็กซานดราเป็นชู้รักกันก็เริ่มแพร่กระจายและเป็นที่เชื่อถือกันมากขึ้นรัสปูตินเองชอบกุเรื่องโกหกเพื่ออวดโอ้ความสำคัญของตนเองและไม่ยอมแก้เรื่องข่าวลือหรือความเข้าใจผิดต่าง ๆ จากทุกคนเพื่อให้เป็นที่เข้าใจว่าทุกเรื่องที่เกี่ยวกับเขาเป็นเรื่องจริง องค์การศาสนจักรซึ่งไม่พอใจในเรื่องการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์ที่รัสปูตินปฏิบัติเริ่มวิพากษ์โจมตีเขาทั้งทูลรายงานความประพฤติที่ไม่เหมาะสมของรัสปูตินให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงทราบ แต่พระองค์ก็ไม่ใส่พระทัย

 นอกจากนี้ ทางการยังได้ติดตามการเคลื่อนไหวของรัสปูตินอย่างใกล้ชิด รายงานลับของตำรวจที่เฝ้าดูรัสปูตินไม่เพียงจะถูกส่งไปถวายซาร์เท่านั้นแต่ยังมีการส่งไปให้สื่อมวลชนด้วย ข่าวลือร้ายจึงแพร่หลายทั่วสังคมและทำให้ราชวงศ์ต้องมัวหมองและเสื่อมพระเกียรติมากขึ้น ปิออตร์ อาร์คัดเยวิช สโตลิปิน (Pyotr Arkadyevich Stolypin)* อัครมหาเสนาบดีซึ่งภักดีต่อราชวงศ์จึงตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าว ผลการไต่สวนที่น่าตกใจทำให้เขาต้องกราบทูลซาร์นิโคลัสที่ ๒ ให้ทรงทราบและเสนอแนะให้ส่งรัสปูตินกลับไซบีเรีย ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงเพิกเฉยต่อคำกราบทูลในรายงาน และปฏิเสธที่จะดำเนินการใด ๆ สโตลิปินจึงออกคำสั่งโดยพลการให้ขับรัสปูตินออกจากเมืองหลวงกลับไปไซบีเรีย เมื่อซารีนาทรงทราบ พระนางทรงพิโรธและชังสโตลิปินมาก ทั้งโน้มน้าวพระทัยพระสวามีให้ต่อต้านสโตลิปิน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ เพราะในเวลาต่อมาซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงเลิกสนับสนุนสโตลิปิน อย่างไรก็ตามอาการประชวรของพระราชโอรสทำให้รัสปูตินได้กลับมากรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กอีกครั้งและอิทธิพลของเขาในราชสำนักก็มีมากขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ รัสปูตินยังใช้เส้นสายในราชสำนักช่วยเหลือเกื้อหนุนคนที่ต้องการโยกย้ายตำแหน่งงานหรือเลื่อนตำแหน่งซึ่งมักช่วยได้สำเร็จเกือบทุกราย เขาจึงมีสานุศิษย์มากและได้รับของกำนัลต่าง ๆ เป็นประจำ

 ในต้น ค.ศ. ๑๙๑๒ มีฮาอิล วลาดีมีโรวิช รอดเซียนโค (Mikhail Vladimirovich Rodzianko) ประธานสภาดูมาให้มีการสืบสวนเรื่องราวของรัสปูตินอีกครั้งหนึ่ง เขาทูลรายงานว่าด้วยพฤติกรรมที่น่ารังเกียจของรัสปูตินให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงทราบ ในครั้งนี้ซาร์ทรงตัดสินพระทัยห้ามไม่ให้รัสปูตินเข้าเฝ้าอีก และให้เขากลับไปไซบีเรียให้นานที่สุดและไม่ต้องกลับมาเมืองหลวงอีกจนกว่าจะทรงเรียกหา ในฤดูใบไม้ผลิ ค.ศ. ๑๙๑๒ ขณะที่พระราชวงศ์เสด็จประพาสที่เมืองสปาลา (Spala) เบโลรัสเซีย (Byelorussia) พระอาการโรคฮีโมฟิเลีย ของซาเรวิชกำเริบขึ้นอีกครั้งหนึ่งในขณะที่ทรงประทับรถพระที่นั่งชมทิวทัศน์ ถนนที่ขรุขระและรถพระที่นั่งซึ่งกระแทกไปมาทำให้ทรงปวดบริเวณพระอุทรและพระเพลาและมีพระอาการตกพระโลหิตภายใน แต่บ้างก็กล่าวว่าอาการประชวรเกิดขึ้นเมื่อซาเรวิชกระโดดโลดเต้นบนเรือและทรงหกล้ม คณะแพทย์หลวงไม่สามารถรักษาพระอาการได้และทรงทรุดหนักลงทุกขณะจนคาดการณ์กันว่าอาจสิ้นพระชนม์ในไม่ช้า มีการเผยแพร่ข่าวการประชวรให้สาธารณชนได้รับรู้และมีการเตรียมประกาศเรื่องการสิ้นพระชนม์ไว้ ขณะที่กำลังท้อแท้พระทัย ซารีนาโปรดให้อันนาโทรเลขด่วนแจ้งเรื่องการประชวรของพระราชโอรสแก่รัสปูตินที่ไซบีเรียเพื่อขอให้เขาสวดมนต์ช่วยรักษาพระราชโอรส รัสปูตินโทรเลขตอบกลับมาว่าซาเรวิชจะไม่สิ้นพระชนม์และจะทรงหายประชวรในไม่ช้าทั้งห้ามไม่ให้แพทย์หลวงเข้าไปรบกวนพระราชโอรสมากเกินไป หลังจากที่โทรเลขรัสปูตินมาถึงได้ไม่กี่ชั่วโมง อาการตกพระโลหิตก็หยุดไหลและพระอาการบวมดีขึ้นเป็นลำดับและการตกพระโลหิตภายในหยุดลงทันที ซาเรวิชมีพระอาการดีขึ้นจนเกือบเป็นปรกติ ซารีนาจึงโปรดให้รัสปูตินกลับกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและนับแต่นั้นรัสปูตินเริ่มมีบทบาทและอิทธิพลในราชสำนัก ทุกครั้งที่เขาถูกเรียกเข้าเฝ้าเพื่อรักษาอาการของพระราชโอรส รัสปูตินสามารถทำให้อาการประชวรของซาเรวิชดีขึ้นจนซารีนาทรงชื่นชมเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งยังทรงเชื่ออย่างแน่วแน่ว่ารัสปูตินคือคนที่พระเป็นเจ้าส่งลงมาให้พระองค์โดยตรง ขณะเดียวกันคณะแพทย์หลวงก็เกลียดชังเขามากขึ้นด้วย ความสามารถของรัสปูตินในการรักษาอาการพระโลหิตไหลไม่หยุดของซาเรวิชทำให้ซารีนาทรงไว้วางพระทัยเขาอย่างมากและทรงปฏิเสธที่จะเชื่อเรื่องการโจมตีป้ายสีรัสปูติน จึงทรงปกป้องรัสปูตินทุกเรื่องและให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ลงโทษหรือปลดข้าราชการและข้าราชบริพารที่ต่อต้านรัสปูตินออกจากตำแหน่ง พระนาง พระราชโอรสและพระราชธิดาทุกพระองค์ต่างมีรูปรัสปูตินเป็นเครื่องลางประจำพระองค์

 ซาร์นิโคลัสที่ ๒ และซารีนาจึงทรงเชื่อว่ารัสปูตินเป็น “คนของพระเป็นเจ้า” ที่ถูกส่งมาช่วยรักษาราชบัลลังก์และสามารถสร้างสิ่งปาฏิหาริย์ให้เกิดขึ้นได้ทั้งเขาเป็นเสมือนตัวแทนของสามัญชนผู้จงรักภักดีต่อราชวงศ์ ในเวลาต่อมาทั้ง ๒ พระองค์ยังพระราชทานพระราชานุญาตให้รัสปูตินเรียกพระองค์ว่า “พ่อ” และ “แม่” ซารีนาโปรดให้รัสปูตินถวายการดูแลอาการพระราชโอรสอย่างใกล้ชิดและต่อต้านฝ่ายตรงข้ามรัสปูตินอย่างรุนแรง ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงเชื่อพระมเหสีและห้ามถวายรายงานใด ๆ เกี่ยวกับรัสปูตินอีกพระองค์ทรงสั่งปลดอะเล็กซานเดอร์ กุชคอฟ (Alexander Guchkov) เสนาบดีมหาดไทยคนใหม่ด้วยข้ออ้างขาดประสิทธิภาพในการควบคุมสื่อสิ่งพิมพ์ และตรัสว่าเรื่องราวที่เกี่ยวกับรัสปูตินเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคลที่บุคคลอื่น ๆ ไม่สมควรจะแสดงความคิดเห็น ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๒-๑๙ด๓ รัสปูตินหาทางปกป้องตนเองด้วยการพักอยู่ที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กน้อยลงซึ่งมีส่วนทำให้ข่าวอื้อฉาวของเขาเงียบลงได้บ้าง

 ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ขณะเสด็จประพาสกรุงซาราเยโว (Sarajevo) นครหลวงของบอสเนียเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๔ ในเวลาต่อมาออสเตรีย-ฮังการี จึงประกาศสงครามกับเซอร์เบีย รัสเซียเรียกระดมพลเพื่อสนับสนุนเซอร์เบียซึ่งทำให้จักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* พันธมิตรของออสเตรีย-ฮังการีประกาศสงครามกับรัสเซีย ประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ ที่ผูกพันกันด้วยระบบพันธไมตรีก็ทยอยประกาศสงครามต่อกันจนความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศพัฒนาเป็นมหาสงคราม (Great War) หรือสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในที่สุด ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสภาดูมาและประชาชนทรง คาดหวังว่ารัสเซียจะเป็นฝ่ายมีชัยชนะและสงครามครั้งนี้จะเป็นการกอบกู้เกียรติและศักดิ์ศรีของกองทัพจากความพ่ายแพ้ในสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น (Russo-Japanese War ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๕)*

 ในช่วงที่รัสเซียกำลังระดมพลเพื่อเข้าสู่สงครามรัสปูตินกลับไปเยี่ยมบ้านเกิดและเขาถูกอดีตคนรักซึ่งป่วยด้วยโรคซิฟิลิสที่เธอเข้าใจว่าติดมาจากรัสปูตินใช้มีดจ้วงแทงและกรีดหน้าอกเขาเป็นแผลลึก รัสปูตินเกือบเสียชีวิตและต้องพักฟื้นรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานกว่า ๑ เดือนเขามีจดหมายกราบทูลเตือนซาร์นิโคลัสที่ ๒ ว่า หากพระองค์นำรัสเซียเข้าสู่สงคราม ความพินาศหายนะและธารเลือดจะไหลนองทั่วรัสเซีย แต่ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงเพิกเฉยต่อจดหมายของเขา เพราะกระแสความรักชาติที่ก่อตัวขึ้นทำให้พระองค์เป็นที่นิยมชมชอบมากขึ้น ต่อมาเมื่อรัสปูตินกลับมายังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นกรุงเปโตรกราด (Petrograd) เขาแสดงความจงรักภักดีด้วยการขอเดินทางไปยังแนวรบเพื่อสวดมนต์ให้พรแก่ทหารและกองทัพ แต่แกรนด์ดุ๊กนิโคลัส นีโคลาเยวิช (Nicholas Nikolayevich) พระปิตุลาของซาร์นิโคลัสที่ ๒ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพรัสเซียปฏิเสธคำขอของรัสปูติน ทั้งตรัสว่าหากเขากล้ามาปรากฏตัวภายในแนวรบก็จะจับเขาแขวนคอทันที

 หลังการเข้าสู่สงครามของรัสเซีย รัสปูตินดื่มหนักเพื่อระงับความเจ็บปวดจากบาดแผลที่ยังไม่หายสนิท และมีความประพฤติเสเพลมากขึ้นทั้งก้าวร้าวและดุดัน เขามักเมาหยำเปในภัตตาคารและชอบคุยโอ้อวดเรื่องความสัมพันธ์พิเศษกับราชสำนักและสตรีชั้นสูง บางครั้งเขาจะถอดกางเกงอวดอวัยวะเพศและบอกเล่าเรื่องราวอันน่าบัดสีจนถูกตำรวจจับกุมหลายครั้ง ซาร์นิโคลัสที่ ๒ จึงโปรดให้มีคนคอยอารักขาเขาตลอดเวลาเพื่อป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามพฤติกรรมของรัสปูตินก็ทำให้ราชวงศ์มัวหมอง ยิ่งรัสปูตินกล่าวอ้างว่าเขาเป็นผู้ชี้นำความคิดของซาร์นิโคลัสที่ ๒ ในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ก็ยิ่งทำให้พระเกียรติยศและพระบารมีของซาร์นิโคลัสที่ ๒ ตกตํ่าลงเพราะชาวรัสเซียยึดมั่นในยศคักดิ์และไม่อาจยอมรับการตีเสมอของรัสปูตินได้กลุ่มการเมืองฝ่ายซ้ายจึงเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวโจมตีรัสปูตินกับซาร์นิโคลัสที่ ๒ รุนแรงมากขึ้น และกล่าวว่ารัสปูตินคือร่างทรงปีศาจที่จะนำความพินาศมาสู่รัสเซีย

 ในสงครามที่เกิดขึ้น รัสเซียส่งกองทัพเข้าบุกปรัสเซีย ตะวันออกและแคว้นกาลิเซีย (Galicia)* ในแนวรบด้านตะวันออก แม้จะมีชัยชนะต่อกองทัพออสเตรีย-ฮังการีที่เมืองเลมแบร์ก (Lemberg) แต่ก็พ่ายแพ้อย่างยับเยินต่อกองทัพเยอรมันในยุทธการที่เมืองทันเนนแบร์ก (Battle of Tannenberg)* และยุทธการที่ทะเลสาบมาซูเรียน (Battle of Masurian Lake) หลังความปราชัยของกองทัพออสเตรีย เยอรมนีแต่งตั้งพลเอก เพาล์ ฟอน ฮินเดนบูร์ก (Paul von Hindenburg)* เป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพออสเตรียและมีพลเอก เอริช ลูเดนดอร์ฟ (Erich Ludendorff)* เป็นเสนาธิการทุ่มกำลังไปสกัดกั้นกองทัพรัสเซียการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลให้เยอรมนีสามารถยึดครองดินแดนที่เคยสูญเสียไปได้ทั้งหมดและรัสเซียเริ่มเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างต่อเนื่องจนไม่ใช่ศัตรูที่น่ากลัวอีกต่อไปสำหรับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Center Powers)*

 สงครามที่ยืดเยื้อและความพ่ายแพ้ครั้งแล้วครั้งเล่าของกองทัพรัสเซียยังส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจเสียหายหนักเกิดภาวะเงินเฟ้อและการว่างงานรวมทั้งวิกฤตการณ์ความอดอยาก กระแสความไม่พอใจรัฐบาลและการต่อต้านสงครามเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้น สมาชิกสภาดูมาซึ่งส่วนใหญ่ในระยะแรกสนับสนุนรัฐบาลในการทำสงครามเริ่มเรียกร้องให้มีการทบทวนนโยบายสงคราม รัสปูตินได้ทำนายว่าหากซาร์นิโคลัสที่ ๒ เสด็จไปบัญชาการรบด้วยพระองค์เองจะทำให้กองทัพมีชัยชนะและสถานการณ์บ้านเมืองที่เลวร้ายจะดีขึ้น ซารีนาอะเล็กซานดราทรงเชื่อในคำพยากรณ์ดังกล่าวและสนับสนุนซาร์นิโคลัสที่ ๒ ให้ทรงปลดแกรนด์ดุ๊กนิโคลัสจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงยอมปฏิบัติตามและตัดสินพระทัยเสด็จบัญชาการรบด้วยพระองค์เองในกลางเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ โดยปฏิเสธที่จะรับฟังการคัดค้านของสภาดูมาซึ่งเห็นว่าหากรัสเซียพ่ายแพ้ในการรบอีก พระองค์จะทรงตกเป็นเป้าของการโจมตีโดยตรง ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงนำพระราชโอรสตามเสด็จไปด้วยและโปรดให้ซารีนาเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินและนับเป็นครั้งแรกในชีวิตคู่ของพระองค์ที่ทรงต้องประทับแยกจากพระมเหสีอย่างไรก็ตาม ทั้ง ๒ พระองค์ต่างทรงพระอักษรถึงกันถี่ยิบทุก ๆ วัน

 ซารีนาอะเล็กซานดราทรงบริหารประเทศตามคำแนะนำของรัสปูตินโดยทรงแต่งตั้งบุคคลที่ไร้ความสามารถและเป็นผู้ใกล้ชิดรัสปูตินให้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ และมีการปรับเปลี่ยนเสนาบดีกระทรวงต่าง ๆ บ่อยครั้ง ซึ่งมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและความมั่นคงของรัฐบาลงานราชการแผ่นดินจึงเสียหายและตกอยู่ในภาวะชะงักงันจนสมาชิกสภาดูมาเริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านซาร์ สมาชิกสภาดูมาซึ่งจงรักภักดีต่อราชวงศ์วิพากษ์โจมตีรัสปูตินอย่างรุนแรงและเห็นว่าซารีนาทรงตกเป็นเครื่องมือของรัสปูติน ทั้งพยายามกราบทูลซาร์นิโคลัสที่ ๒ ให้ทรงแก้ไขปัญหาทางการเมืองแต่ซารีนากลับทูลโน้มน้าวพระสวามีไม่ให้ทรงอ่อนข้อต่อสภาดูมาและให้ใช้พระราชอำนาจเด็ดขาดในการปกครองความขัดแย้งระหว่างซาร์นิโคลัสที่ ๒ กับสภาดูมาจึงขยายตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้น การปราชัยของกองทัพรัสเซียที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อเนื่องทำให้เกิดข่าวลือว่าซารีนาซึ่งมีรัสปูตินชักใยอยู่เบื้องหลังเป็นผู้นำของกลุ่มสนับสนุนเยอรมนีในรัสเซียที่เคลื่อนไหวให้มีการเปิดการเจรจาสันติภาพตามเงื่อนไขที่เยอรมนีกำหนด นอกจากนี้ ความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศยังเปิดทางให้ขบวนการปฏิวัติซึ่งซบเซาและหมดบทบาทตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๗ เริ่มฟื้นตัวและมีอิทธิพลสำคัญในสังคมอีกครั้งหนึ่ง กลุ่มฝ่ายซ้ายโหมกระพือเรื่องความเหลวแหลกของราชสำนักใต้เงารัสปูตินและปลุกระดมให้ประชาชนเคลื่อนไหวต่อต้านซาร์ ข่าวลือที่แพร่กระจายทั่วประเทศว่ารัสปูตินซึ่งเป็นสายลับเยอรมนี เป็นชู้รักของซารีนาและข่มขืนแกรนด์ดัชเชสทั้ง ๔ พระองค์ก็ยิ่งทำให้พระเกียรติของราชวงศ์มัวหมองอย่างมาก สมาชิกสภาดูมาจึงเคลื่อนไหวต่อต้านพระราชวงศ์อย่างเปิดเผยจนฝ่ายที่จงรักภักดีต่อราชวงศ์เห็นความจำเป็นที่จะต้องปกป้องราชวงศ์โรมานอฟด้วยการกำจัดรัสปูตินและนำไปสู่การคบคิดวางแผนสังหารรัสปูตินโดยมีเจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูปอฟ สมาชิกในราชวงศ์ที่มั่งคั่งเป็นผู้นำ ก่อนหน้าการคบคิดครั้งนี้มีการพยายามลอบสังหารรัสปูติน ๒-๓ ครั้ง แต่ล้มเหลว

 เจ้าชายเฟลิกซ์ ยูซูปอฟทรงร่วมมือกับแกรนด์ดุ๊ก ดิมีตรี ปัฟโลวิช (Dmitri Pavlovich) พระญาติที่ใกล้ชิดของซาร์ และวลาดีมีร์ ปูริชเควิช (Vladimir Purishkevich) นักการเมืองฝ่ายขวาวางแผนสังหารรัสปูตินด้วยการเชิญเขาไปร่วมงานเลี้ยงส่วนพระองค์ที่พระราชวังมอยคา (Moika) ในคืนวันที่ ๑๖ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๖ รัสปูตินซึ่งมีลางสังหรณ์บางอย่างในช่วง ๒-๓ วันก่อนถูกลอบสังหารได้เขียนบันทึกภาพนิมิตอันน่ากลัวไว้ก่อนว่าเขาอาจมีชีวิตอยู่ไม่ถึงวันที่ ๑ มกราคม หากเขาถูกลอบสังหารโดยอาชญากรทั่วไปราชบัลลังก์และจักรวรรดิก็จะยังคงมั่นคงอีกยาวนาน แต่หากเขาถูกฆาตกรรมโดยพวกขุนนางซึ่งสังหารเขาด้วยวิธีรุนแรงรัสเซียในวันข้างหน้าจะปราศจากขุนนาง หากซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงได้รับทราบว่าเขาถูกสังหารด้วยนี่ามือพระประยูรญาติไปแล้ว พระราชวงศ์ทุกพระองค์จะมีชีวิตเหลืออยู่ไม่เกิน ๒ ปี และต้องพบกับชะตากรรมเช่นเดียวกับเขา ในคืนวันที่ ๑๖ ธันวาคมรัสปูตินถูกเจ้าชายยูซูปอฟลวงล่อให้กินยาพิษไซยาไนด์อย่างแรงที่ผสมในเค้กนุ่มและไวน์แดงรสเลิศที่ชุ่มลิ้น แม้รัสปูตินจะกินเค้กชิ้นแล้วชิ้นเล่า รวมทั้งไวน์หลายแก้ว แต่เขาก็ไม่ตาย เจ้าชายยูรูปอฟในท้ายที่สุดจึงตัดสินพระทัยยิงเขาที่หัวใจ แต่รัสปูตินก็ยังไม่ตายทั้งลืมตาและด่าแช่งเจ้าชาย ผู้ร่วมคบคิดคนอื่น ๆ ต้องเข้ามาช่วยด้วยการยิงชํ้าอีก ๓ ครั้งจนทุกคนแน่ใจว่าเขาสิ้นใจ จากนั้นก็ใช้ท่อนเหล็กทุบตีศพรัสปูตินที่ใบหน้าและหน้าอกอีกหลายครั้ง และนำศพซึ่งห่อด้วยพรมและผูกมัดแน่นหนาไปโยนลงในแม่น้ำเนวา (Neva) ที่เย็นจัดเป็นน้ำแข็ง โซ่ที่มัดรอบนอกได้ถ่วงศพจมหายไปใต้พื้นน้ำ รัสปูตินเสียชีวิตขณะอายุได้ ๓๘ ปี

 หลังการสังหารรัสปูติน ๑ วัน ทั่วทั้งกรุงเปโตรกราด รับรู้ข่าวการหายสาบสูญของรัสปูติน อีก ๒ วันต่อมาในวันที่ ๑๘ ธันวาคม ตำรวจก็สามารถคลายปมได้และพบศพรัสปูตินที่ถูกถ่วงใต้พื้นผิวน้ำลึก ๖๐ ฟุต รายงานการชันสูตรศพของตำรวจเบื้องต้นพบว่ารัสปูตินยังมีชีวิตอยู่ขณะที่ถูกโยนลงไปในแม่น้ำเพราะปอดของเขาเต็มไปด้วยน้ำและแขนขวาอยู่ในท่ายกขึ้นสูงระดับศอกเหมือนกับจะช่วยตัวเองให้รอดพ้น ประชาชนทั่วไปส่วนใหญ่ยินดีปรีดาที่ทราบข่าวรัสปูตินเสียชีวิต แต่ทั้งซาร์และซารีนาทรงพระหทัยสลายและไม่ทรงไยดีต่อข่าวที่ทราบว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้น ในวันที่ ๒๑ ธันวาคม ซารีนาอะเล็กซานดราทรงจัดพิธีฝังศพรัสปูตินอย่างสมเกียรติเช่นบุคคลสำคัญและให้ฝังไวัที่ศูนย์กลางของโบสถ์ไหม่ที่กำลังจะสร้างในอุทยานซาร์สโกเยเซโล (Tsarskoye Selo) ใกล้กับพระราชวังอะเล็กซานเดอร์ซึ่งเป็นที่ประทับ ทรงบรรจุพระรูปของพระราชวงศ์และจดหมายส่วนพระองค์ซึ่งขอพรจากรัสปูตินให้แก่พระราชวงศ์ไว้ไนหีบศพด้วย หลังเหตุการณ์การเสียชีวิตของรัสปูติน เจ้าชายยูซูปอฟไม่ได้ถูกจับกุมและพิจารณาตัดสินโทษแต่อย่างใด พระองค์เพียงถูกขับออกจากกรุงเปโตรกราดและถูกส่งไปกักบริเวณ ณ พระตำหนักของพระองค์ที่ไครเมีย ส่วนผู้สมรู้ร่วมคิดคนอื่น ๆ ถูกเนรเทศไปแนวหน้า อย่างไรก็ตาม การเสียชีวิตของรัสปูตินและการเปลี่ยนตัวอัครมหาเสนาบดีอีก ๒ คนในเวลาใกล้เคียงกันไม่ได้ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองดีชิ้น เพราะซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงปฏิเสธที่จะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่และเปลี่ยนนโยบายการปกครองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตามคำกราบทูลของสภาดูมา สองเดือนหลังการพยากรณ์ของรัสปูตินก็เกิดการจลาจลขึ้นในกรุงเปโตรกราด นอกจากนี้ ปัญหาการขาดแคลนอาหารและเชื้อเพลิงในช่วงฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๑๖-๑๙๑๗ รวมทั้งกระแสการต่อต้านสงครามที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วได้นำไปสู่การชุมนุมเดินขบวนของกรรมกรและประชาชนจนพัฒนาเป็นการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในที่สุด

 การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ทำให้ราชวงศโรมานอฟที่ปกครองจักรวรรดิรัสเซียกว่า ๓๐๐ ปีล่มสลาย และอีก ๑๕ เดือนต่อมา ซาร์นิโคลัสที่ ๒ และพระราชวงศ์ก็ถูกปลงพระชนมหมู่ตามคำทำนายครั้งสุดท้ายของรัสปูตินในเวลาต่อมา กลุ่มทหารและคนงานในกรุงเปโตรกราดได้ทำลายโบสถ์ที่ซาร์สโกเยเชโลซึ่งยังสร้างไม่เสร็จและชุดศพรัสปูตินไปเผาทำลาย ต่อมา ในช่วงที่โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin)* ผู้นำคอมมิวนิสต์ปกครองสหภาพโซเวียต รายงานการชันสูตรศพของทางการรัสเซียและเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับรัสปูตินก็หายสาบสูญอย่างไร้ร่องรอย ส่วนมาเรียบุตรสาวของรัสปูตินซึ่งหนีออกนอกประเทศหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ได้เดินทางไปพักพิงในฝรั่งเศส เธอเขียนหนังสือบอกเล่าเรื่องการสังหารรัสปูตินในเวลาต่อมาว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเจ้าชายยูซูปอฟเคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับบิดาของเธอและพระองค์หลงใหลเสน่ห์กลิ่นกายและลีลาอันเร่าร้อนรุนแรงของรัสปูตินอย่างมาก แต่รัสปูตินได้ปฏิเสธที่จะสานต่อความสัมพันธ์ดังกล่าว จึงนำไปสู่การสังหารอันหฤโหดคำกล่าวอ้างดังกล่าวของมาเรียไม่เป็นที่ยอมรับกันมากนักมูลเหตุการสังหารรัสสู่ดินจึงมีการตีความกันหลากหลายอย่างไรก็ตาม ในประเทศยุโรปตะวันตกตั้งแต่ตันทศวรรษ ๑๙๓๐ มีการนำเรื่องราวของรัสปูตินเผยแพร่ในรูปของหนังสือและภาพยนตร์ซึ่งทำให้ชื่อของรัสปูตินเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ชีวิตของรัสปูตินถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์หลายครั้ง แต่ภาพยนตร์ฮอลลีวูดเกี่ยวกับรัสปูตินที่ได้รับการกล่าวขวัญและได้ชื่อว่าเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมโดยได้รับรางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globe) และรางวัลเอมมี (Emmy) คือเรื่อง Rasputin : Dark Servant of Destiny (ค.ศ. ๑๙๖๖) ซึ่งมีอลัน ริกแมน (Alan Rickman) นักแสดงชาวอังกฤษเป็นดารานำ.



คำตั้ง
Rasputin, Gregory Efimovich
คำเทียบ
เกรกอรี เอฟีโมวิช รัสปูตีน
คำสำคัญ
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- กุชคอฟ, อะเล็กซานเดอร์
- ดูโบรวีนา, ปรัสโกเวีย ฟีโอโดรอฟนา
- มหาสงคราม
- มหาอำนาจกลาง
- ยุทธการที่เมืองทันเนนแบร์ก
- ยูซูปอฟ, เจ้าชายเฟลิกซ์
- รอดเซียนโค, มีฮาอิล วลาดีมีโรวิช
- รัสปูติน, เกรกอรี เอฟีโมวิช
- ลูเดนดอร์ฟ, เอริช
- วีรูโบวา, อันนา
- สงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สโตลิปิน, ปิออตร์ อาร์คัดเยวิช
- สภาดูมา
- ออสเตรีย-ฮังการี
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1869-1916
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๑๖-๒๔๕๙
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
ลัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-